ในทุกวันของชีวิตเราจำเป็นต้องใช้การสื่อสาร Communicate กับผู้คนผ่านการพูดคุยเป็นหลัก หนึ่งในทักษะการสื่อสาร คือ “การพูดโน้มน้าวใจ ” ซึ่งเราจำเป็นจะต้องทราบทักษะประเภทนี้ ก็เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำให้มีผู้คนเห็นด้วยกับตรรกะความคิดของเรา หรือเพื่อให้ลูกค้าซื้อสินค้าของเรา เหล่านี้เป็นต้น วันนี้เราจึงหยิบเอาการพูดโน้มน้าวใจ ประเด็นใกล้ตัวทุกคนขึ้นมานำเสนอ
การพูดโน้มน้าวใจ คืออะไร
การพูดโน้มน้าวใจ คือ ศาสตร์ในการสื่อสารประเภทหนึ่งที่เป็นไปในแนวของการพูดเพื่อเชิญชวน ชักจูงให้คนฟังเกิดความรู้สึกร่วมต่อประเด็นที่คนพูดต้องการสื่อ อาจจะพูดเพื่อให้เกิดความเชื่อในประเด็นที่กล่าวถึง การพูดโน้มน้าวใจจึงเป็นเสมือนการพูดโฆษณา หาเสียง หรืออาจมีวัตถุประสงค์ในการพูดเพื่อเปลี่ยนแปลงตรรกะ ทัศนคติเดิมของผู้ฟัง หรืออาจพูดเพื่อให้ผู้ฟังตระหนักถึงคุณค่าในเรื่องที่ผู้พูดกล่าวถึง อย่างไรก็ตามการพูดโน้มน้าวใจย่อมต้องเป็นไปในแนวทางของการพูดเพื่อให้คนฟังเกิดความเชื่อเดียวกัน โดยที่ไม่ต้องใช้การบังคับให้เห็นด้วยผ่านกลวิธีอื่น
ดังนั้นเราอาจสรุปได้ว่าการพูดโน้มน้าวใจ เป็นทักษะการพูดที่เราทุกคนสามารถฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ตลอดจนพัฒนา แก้ไขการพูดส่วนนี้ให้ออกมาดีและเป็นธรรมชาติได้ โดยอาศัยเทคนิคในการพูดโน้มน้าวใจ
7 เทคนิค การพูดโน้มน้าวใจ
- เบื้องต้นผู้พูดเองจะต้องสร้างความมั่นใจ ก่อนการพูด เพื่อให้สามารถโน้มน้าวคนฟังได้ ตัวเราเองจะต้องมั่นใจในสารหรือข้อมูลที่ต้องการจะส่งออกไปเสียก่อน เพราะเมื่อเราพูดอย่างมั่นใจ คนฟังก็จะเกิดความสนใจในเรื่องที่เรากำลังพูดหรือสื่อออกไปนั่นเอง
- กำหนดเป้าหมายในการพูดโน้มนาวใจ ยกตัวอย่าง เช่น เราต้องการพูดประเด็นที่ว่าทำไมคนเราต้องซื้อประกันสุขภาพ เป้าหมายก็เพื่อให้ผู้คนซื้อประกันกับเรา ดังนั้นเมื่อเรามีเป้าหมายแล้ว เราจึงกำหนดเนื้อหาที่เราจะพูดได้อย่างถูกต้อง คือ เราต้องหาข้อมูลความจำเป็น ข้อดีในการทำประกันสุขภาพออกมาพูดให้คนฟังเข้าใจและสนใจอยากจะทำประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
- จัดลำดับสิ่งที่จะพูดคร่าวๆ คิดว่าจะพูดเกริ่นนำอย่างไร ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาหลัก ยกตัวอย่าง เช่น เราต้องการโน้มน้าวให้ลูกค้าซื้อสินค้ามาร์กใต้ตาของแบรนด์เรา เราอาจเกริ่นนำด้วยการพูดถึงพฤติกรรมของคนในปัจจุบันที่มักจะนอนดึก แล้วจึงดึงเข้ามาพูดถึงตัวสินค้าว่ามีข้อดีอย่างไร
- ผู้พูดอาศัยการพูดอย่างมีหลักเหตุและผล มีคุณธรรมในเรื่องของความจริงใจต่อสิ่งที่กำลังจะพูดถึง
ยกตัวอย่าง เช่น การพูดเพื่อจะขายสินค้าโฟมล้างหน้ายี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นคลีนซิ่งน้ำนม ที่ให้ความชุ่มชื้น แน่นอนว่าผู้พูดย่อมต้องบอกถึงคุณสมบัติข้อดีของโฟมชิ้นนี้ ในเรื่องของทำความสะอาดหมดจด ทำให้ผิวหน้าคงความชุ่มชื้น เพราะเป็นเนื้อคลีนซิ่งน้ำนม มีส่วนผสมใดก็ว่าไป แต่ทริคการพูดโน้มน้ามให้คนฟังเชื่อถือในสินค้าของเราได้มากขึ้น ย่อมต้องแสดงความจริงใจบอกข้อเสียออกไปเล็กน้อย อาจพูดบอกเพิ่มเติมว่าโฟมคลีนซิ่งของเราจึงเหมาะกับคนที่มีสภาพผิวแห้งมากกว่าคนที่มีสภาพผิวมัน เช่นนี้เป็นต้น - พูดโดยเน้นการเร้าให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ร่วม เป็นแรงผลักดันในบางสิ่ง ยกตัวอย่างการพูดโน้มน้าวให้ร่วมดูแลทะเล จากดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรฯ ซึ่งได้พูดให้สัมภาษณ์ผ่าน gqthailand ไว้ส่วนหนึ่งว่า “…Surfing ซึ่งเป็นกีฬาที่เริ่มเป็นที่นิยมในเมืองไทย ถ้าถามว่ามันมีผลกระทบมั้ย กิจกรรมอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในทะเล มันก็อาจจะส่งผลกระทบได้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่าถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง การที่คนเข้าไปใกล้ชิดทะเล ผูกพันกับทะเล มันก็อาจจะเกิดผลในทางบวก ก็คือสร้างความใกล้ชิด ความเข้าใจ และความรักทะเล แล้วเขาก็จะช่วยดูแลทะเล พิทักษ์ทะเล ช่วยทำกิจกรรมต่างๆ ผมไม่เห็นด้วยกับการแยกคนออกจากทะเล เพราะกลัวว่าทะเลจะได้รับผลกระทบ มันทำให้คนไม่รักทะเล ไม่รู้สึกผูกพัน แล้วเขาก็จะไม่มายุ่งเกี่ยว ไม่เข้ามาช่วย ไม่เข้ามาดูแล อันนั้นน่าเป็นห่วงมากกว่า…
- เลือกใช้ระดับของภาษาให้ตรงกับระดับของผู้ฟัง เรื่องนี้สำคัญไม่แพ้เทคนิคอื่น ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น เราต้องการจะขายของในตลาดนัดสักชิ้น แต่กลับใช้ศัพท์เฉพาะที่ฟังยาก ผู้ฟังไม่เข้าใจว่าส่วนผสมที่เป็นภาษาอังกฤษต่างๆ คืออะไร เช่นนี้ย่อมจะโน้มน้าวให้คนฟังรู้สึกร่วมด้วยหรืออยากจะซื้อสินค้าน้อยลง ตรงกันข้ามกับ “เฉาก๊วยชากังราว” ที่เรามักจะได้ยินวิดีโอคำพูดโน้มน้าวโฆษณาให้เห็นภาพและเข้าใจได้ง่าย จนลูกค้าหลายคนยังคงจำคำพูดเหล่านั้นได้
- โชว์บุคลิกภาพที่ดี ทำให้คำพูดโน้มน้าวมีน้ำหนักที่น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น บุคลิกภาพที่ดีในที่นี่หมายความรวมตั้งแต่ผมจรดเท้า การแต่งกาย การยืน หรือเดิน มารยาทในการเลือกใช้คำพูด สิ่งเหล่านี้จะช่วยเป็นองค์ประกอบเสริมให้คำพูดโน้มน้าวใจของคุณน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
การพูดโน้มน้าวใจ คนนั้นเป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนและปรับปรุงได้ตลอดเวลา เราอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในครั้งแรกเมื่อเอาวิธีการพูดโน้มน้าวใจเหล่านี้ไปใช้ แต่ยิ่งเราใช้เทคนิคเหล่านี้บ่อยๆ ก็จะยิ่งทำให้เรามีทักษะและเป็นธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมส่งผลให้การพูดของเราน่าเชื่อถือ น่าฟัง และสามารถโน้มน้าวใจคนได้ในที่สุดค่ะ